เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ถีนมิทธะเราเรียกว่าเสนากองที่ 5 ของท่าน
ความกลัวเราเรียกว่าเสนากองที่ 6 ของท่าน
วิจิกิจฉาเราเรียกว่าเสนากองที่ 7 ของท่าน
มักขะและถัมภะเราเรียกว่าเสนากองที่ 8 ของท่าน
ลาภ ความสรรเสริญ สักการะและยศที่ได้มาผิด ๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ 9 ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่นเราเรียกว่าเสนากองที่ 10 ของท่าน
มารเอ๋ย เสนาของท่านนี้ มีปกติประหารผู้มีธรรมดำ
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข1
เมื่อใด เสนามารทั้งหมดและกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกผู้มี
ปัญญาพิชิต และทำให้ปราชัย ถูกทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค 4
เมื่อนั้น ผู้มีปัญญานั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนา คือ เป็นผู้กำจัดเสนาในรูป
ที่เห็น กำจัดเสนาในเสียงที่ได้ยิน กำจัดเสนาในอารมณ์ที่รับรู้ และกำจัดเสนาใน
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว รวมความว่า ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า ผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย อธิบายว่า ผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็นธรรมหมดจด เห็นธรรมสะอาด เห็นธรรมบริสุทธิ์ เห็นธรรมผ่องแผ้ว เห็น
ธรรมผ่องใส อีกนัยหนึ่ง ความเห็นหมดจด ความเห็นสะอาด ความเห็นบริสุทธิ์
ความเห็นผ่องแผ้ว ความเห็นผ่องใส
คำว่า เปิดเผย อธิบายว่า เครื่องปิดบังคือตัณหา เครื่องปิดบังคือทิฏฐิ เครื่อง
ปิดบังคือกิเลส เครื่องปิดบังคือทุจริต เครื่องปิดบังคืออวิชชา เครื่องปิดบังเหล่านั้น
ถูกเปิดเผยแล้ว คือ รื้อออกแล้ว เพิกขึ้นแล้ว เพิกถอนแล้ว ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/439-442/416

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :116 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ประพฤติ ได้แก่ ผู้ประพฤติ คือ เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น
ผู้ประพฤติเปิดเผย
คำว่า ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด 2 อย่าง คือ (1) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (2) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ผู้มีปัญญานั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการกำหนด
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ใคร ๆ จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ
มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า "เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง
เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ใน
พลังกิเลส"
ผู้มีปัญญานั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว
ใคร ๆ จะพึงกำหนดคติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า "เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิด
เดรัจฉาน เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป
เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือว่าเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่"
ใคร ๆ จะพึงกำหนด คือ กำหนดรู้ ถึงการกำหนดรู้ด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด
เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้นไม่มี
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรได้เล่า ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย ด้วยเหตุอะไรเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :117 }